top of page
Search

ลมพัดผ่านดาว เพลงสายลม - หน้าต่างสายลม

  • Taliw
  • Jan 23, 2013
  • 3 min read

นี่คือจุดเริ่มต้นของงานเขียนทั้งหมดบนหน้าเว็บไซต์นี้... จุดเริ่มต้นที่มาจากบทความวิชาการในวิชา "วรรณกรรมเด่นร่วมสมัย" ที่ได้ลงเรียนเมื่อปี 2013 (ปี 4 เทอม 2) เมื่อก่อร่างสร้าง เว็บไซต์นี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงอดไม่ได้ที่จะนำบทความนี้มาลงให้คนรักนิยายได้อ่านกัน โดยได้คัดย่อตัดต่อมาเพียงบางส่วนเท่านั้น ...แม้งานเขียนที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะมิได้ละเมียดละไมและละเอียดลออเท่าบทความชิ้นนี้ก็ตาม ------------------------------------------------------------------------ วรรณกรรมเรื่อง “ลมพัดผ่านดาว” เป็นผลงานประพันธ์ของคุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ หรือนามปากกา ว.วินิจฉัยกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งวรรณกรรมเรื่องนี้นักเขียนมีจุดประสงค์จะแสดงชีวิตของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ในปี ๒๕๕๐ ที่มีค่านิยมการดำเนินชีวิตผิดแผกแตกต่างไปจากคนรุ่นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความรัก และการเลือกคู่ เรื่องราวเริ่มจากวายุและหนูดาวพบกันโดยบังเอิญ จนเกิดเป็นรักแรกพบ แต่ทั้งคู่กับเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างผิดประเพณี และท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนรอบข้างถึงความไม่เหมาะสม ทั้งความแตกต่างทางฐานะทางสังคมและพื้นฐานของชีวิต ทำให้กลายเป็นอุปสรรคของความรักของทั้งคู่ ขณะที่ทั้งสองต่างทุกข์ใจกับความรักที่กำลังสั่นคลอน ทรงวัชร์ พี่ชายที่แสนดีและหนุ่มในฝันของหนูดาวก็ได้กลับเข้ามาในชีวิตอีกครั้ง การกลับมาของเขาจึงกลายเป็นทางแยกที่หนูดาวต้องเลือกเดิน เส้นทางแรกคือ เลือกทรงวัชร์เป็นคู่ชีวิต ที่มีความเหมาะสมทางสังคม ทั้งฐานะการเงินและการเป็นที่นับหน้าถือตาของสังคม ซึ่งคนรอบข้างต่างส่งเสียงสนับสนุน แม้ว่าการเลือกทรงวัชร์เป็นคู่ชีวิตจะปราศจากคามรักแบบหนุ่มสาว เพราะทรงวัชร์มีให้เพียงความรักแบบพี่น้อง เส้นทางที่สองคือ เลือกที่จะอยู่กับวายุ ผู้ชายที่ไม่เหมาะสม ผู้ชายที่ไม่มีสิ่งใดเลย นอกจากความรัก ความไม่เหมาะสมทั้งฐานะ การศึกษา การงาน และอื่นๆ ต่าง ทำให้คนรอบข้างต่างคัดค้านที่ทั้งคู่จะคบหากัน หลังจากลมพัดผ่านดาวกำเนิดเป็นเวลา ๓ ปี ว.วินิจฉัยกุลก็ได้เขียนเรื่องเพลงสายลม – หน้าต่างสายลม ซึ่งเป็นภาคต่อของลมพัดผ่านดาว เป็นเรื่องราวในอีก ๕ ปีต่อมาหลังจากที่หนูดาวเลือกเส้นทางความรัก “เพลงสายลม” เป็นเรื่องราวชีวิตคู่ที่เกิดจากความเหมาะสม ขณะที่ “หน้าต่างสายลม” จะเป็นเรื่องราวชีวิตคู่ที่เกิดจากความรัก เมื่อจุดประสงค์ของเรื่องนี้คือการแสดงชีวิตของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ในปี ๒๕๕๐ ผนวกกับความสามารถของนักเขียนที่ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๔๗ และรางวัลเกียรติคุณอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ บุคคลดีเด่นทางด้านอนุรักษ์มรดกไทยสาขาภาษาและวรรณกรรม เนื่องในปีอนุรักษ์มรดกไทย สาขาภาษาและวรรณกรรม พ.ศ. ๒๕๓๗, บุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และเจ้าของงานวรรณกรรมเรื่องรัตนโกสินทร์และแต่ปางก่อน วรรณกรรมที่ได้รับความนิยมที่ตีพิมพ์ถึง ๑๑ ครั้ง วรรณกรรมเรื่องลมพัดผ่านดาว ซึ่งเป็นผลงานหนึ่งของ ว.วินิจฉัยกุล จึงเป็นวรรณกรรมที่น่าจับตามองและน่าสนใจว่าควรได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเด่นร่วมสมัยหรือไม่ ------------------------------------------------------------------------ ------------------------------------- ๑. กลวิธีการประพันธ์ ------------------------------------- ๑.๑ “ฉากจบสองแบบ” แนวคิดแปลกใหม่ วรรณกรรมเรื่องลมพัดผ่านดาว เป็นจุดเริ่มต้นของเทคนิคใหม่ๆ ที่ฉีกออกไปจากการประพันธ์เดิมที่เคยมีมา เป็นการเปิดโลกใหม่ให้วงวรรณกรรม นั่นคือปรากฏการณ์การจบแบบสองแบบและเป็นการจบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงหรือเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยนักเขียนให้สิทธิ์ผู้อ่านตัดสินใจเลือกเองว่าพอใจให้จบแบบไหน ก็เลือกอ่านแบบนั้นเป็นตอนจบของเรื่อง โดยไม่ต้องสนใจการจบอีกแบบที่ตีพิมพ์ในเล่มเดียวกัน การที่ผู้อ่านสามารถเลือกตอนจบเองได้นี้ หากมองในมุมผู้อ่าน ก็ถือว่านักเขียนเอาใจผู้อ่าน และเปิดกว้างตามรสนิยมของผู้อ่านและหากมองในมุมวรรณกรรม ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคนิคการประพันธ์ให้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง วิธีการนำเสนอการจบสองแบบนี้ นักเขียนได้กล่าวให้ผู้อ่านได้ทราบก่อนแล้วว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีการจบสองแบบในหน้าคำนำนักเขียน โดยการดำเนินเรื่องในตอนต้นและกลางเรื่องจะเป็นไปตามโครงสร้างที่นักเขียนวางไว้ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงตอนที่ ๖๔ ซึ่งถือว่าเป็นทางแยกของตอนจบ หากผู้อ่านเลือกการจบแบบที่หนึ่งนั้น ผู้อ่านสามารถอ่านต่อไปยังตอนที่ ๖๕ ซึ่งถือว่าเป็นตอนจบของเรื่อง แต่หากผู้อ่านเลือกจบแบบที่สอง เมื่อผู้อ่านอ่านจบตอนที่ ๖๔ แล้ว ก็ให้กระโดดตอนที่ ๖๕ ไปอ่านอีกตอนในหน้า ๕๒๔ ซึ่งนักเขียนกำหนดให้เป็นตอนพิเศษของเรื่องแทน ซึ่งกลวิธีการเขียนที่ให้ตอนที่ ๖๔ เป็นทางแยกของตอนจบและการแจ้งให้ผู้อ่านทราบในเบื้องต้นนี้ จะทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความสับสนเวลาอ่าน ขณะเดียวกันนักเขียนและสำนักพิมพ์ก็มิได้กล่าวกับผู้อ่านว่าการจบแต่ละแบบนี้จะเป็นการจบเช่นไร ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกตื่นเต้นกับการคาดเดาฉากจบที่แตกต่างกันอย่างตรงข้ามอีกด้วย จุดพลิกผันของฉากจบที่ตรงกันข้ามนี้ อยู่ที่ประโยคคำพูดของตัวละครหลักของเรื่อง นั่นคือ หนูดาวหรือดารชา นางเอกของเรื่อง กล่าวคือ ในตอนที่ ๖๔ เป็นเหตุการณ์เช้าวันแต่งงานของหนูดาวกับทรงวัชร์ในช่วงเช้าตรู่วันนี้ หนูดาวโทรศัพท์หาวายุ เพื่อบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมหาถามคำถามเพื่อหาคำตอบให้กับความรักที่จบลงระหว่างเธอกับวายุ

“หนูดาว ถ้าเราจะอยู่ด้วยกัน เพื่อรอวันที่จะร้างรากันไปสู้จากกันไปเสียเดียวนี้ เพื่อคิดถึงวันดีๆ ที่เราเคยมีความสุขต่อกันน่าจะดีกว่า นี่เป็นใจจริงที่สุดของผม”

...

“วายุไม่เคยคิดหรือว่า อยู่อย่างเป็นทุกข์กับใครคนหนึ่งก็ยังดีกว่าอยู่อย่างเป็นสุขโดยไม่มีเขา” (ลมพัดผ่านดาว, น.๕๒๗)

หากเป็นการจบแบบแรก เมื่อวายุพูดจบ หนูดาวจะไม่โต้ตอบบทสนนาต่อ และเงียบจากกันไป แต่หากจบอีกแบบ หนูดาวก็จะตอบวายุด้วยคำพูดข้างต้น ซึ่งคำพูดดังกล่าวเป็นตัวจุดชนวนให้วายุได้ฉุกคิด และตัดสินใจรั้งหนูดาว กลายเป็นการจบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับการจบแบบแรก จะเห็นได้ว่านักเขียนใช้คำพูดที่หนูดาวตอบกับวายุ เป็นจุดพลิกผันฉากจบของเรื่องได้อย่างอัศจรรย์ใจ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขโครงเรื่อง ซึ่งเทคนิคการแยกฉากจบเป็นสองแบบ ด้วยคำพูดของตัวละครหลักนี้ ถือว่าเป็นเทคนิคที่ควรจับตามอง โดยเฉพาะการนำมาใช้พัฒนาการประพันธ์ในวงวรรณกรรมต่อไป ในส่วนเพลงสายลม – หน้าต่างสายลมนั้น นักเขียนมิได้สร้างปรากฏการณ์ตอนจบสองแบบเช่นเดียวกับเรื่องลมพัดผ่านดาว แต่นักเขียนก็ได้สร้างปรากฏการณ์ให้มีการดำเนินเรื่องสองแบบ กล่าวคือ วรรณกรรมเรื่องเพลงสายลม – หน้าต่างสายลม ซึ่งเป็นภาคต่อของเรื่องลมพัดผ่านดาวนี้ ได้แบ่งเนื้อเรื่องเป็น ๒ เรื่อง “เพลงสายลม” จะเป็นภาคต่อของการจบแบบแรก และ “หน้าต่างสายลม” จะเป็นภาคต่อของการจบแบบที่สองนั่นเอง ซึ่งการมีภาคต่อสองแบบ โดยมีตัวละครเดียวกันนี้ ทำให้ผู้อ่านมีสิทธิ์เลือกอ่านได้เช่นเดียวกับฉากจบของลมพัดผ่านดาว และยังถือว่าเป็นเทคนิคที่ต่อเนื่องจากการจบสองแบบอีกด้วย นอกจากนี้วรรณกรรมเรื่องนี้ที่มีตอนจบสองแบบ ก็ได้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้อ่านหลายคนลุกขึ้นมาแสดงปฏิกิริยาสื่อสารกับนักเขียน จนต้องมีการจัดเวทีเสวนาเพื่อคลี่ปมปัญหาขึ้น ซึ่งเวทีเสวนานี้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมวรรณกรรม จึงทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น +++++++++++++++++++++++++++++++ ๑.๒. การแทรกบทเพลงซึ่งเป็นร้อยกรอง วรรณกรรมร้อยแก้วที่มีการสอดแทรกบทร้อยกรองนั้นมีมาแต่อดีต จึงมิใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างไร เช่นเดียวกับเรื่องนี้ที่มีการสอดแทรกบทร้อยกรอง แต่วรรณกรรมเรื่องนี้มีความพิเศษกว่าตรงที่บทร้อยกรองภายในเรื่อง เป็นร้อยกรองที่ถ่ายถอดความรู้สึกภายในของตัวละครหลักที่ไม่อาจเอ่ยเป็นคำพูดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักเขียนประพันธ์ให้ร้อยกรองเหล่านั้นเป็นบทเพลงทีมีเนื้อหาเข้าใจง่ายและขับขานพร้อมเสียงกีต้าร์จึงยิ่งทำให้ร้อยกรองเหล่านี้ชักจูงให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมกับตัวละครได้ง่ายขึ้น และสร้างความจับใจให้กับเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้นเช่น

สายลมเคล้าเคลียใกล้ แลไปแต่ไม่เห็น จูบเศร้าเบาเยือกเย็น ประทับซ้อนรอยอ่อนหวาน อ้อมกอดที่เธอไม่รู้ โอบเธออยู่แผ่วผสาน ชิดใกล้ในวิญญาณ เนานานเกินกาลเวลา และอยู่ในหัวใจรัก ระหว่างวรรคของแววตา ปลายทางแห่งปรารถนา ซึ่งรู้นัยแห่งสายลม

(ลมพัดผ่านดาว, น.๕๒๑)

บทร้อยกรองข้างต้น เป็นเพลงที่วายุแต่งให้หนูดาวในวันแต่งงานของเธอ โดยสื่อความรู้สึกรักที่วายุมีต่อหนูดาว เป็นความรักที่จะประทับในหัวใจของวายุ ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์กับความรักที่ไม่อาจเป็นจริงได้ โดยนักเขียนได้ปิดฉากวรรณกรรมเรื่องนี้ด้วยร้อยกรองบทนี้ ซึ่งจะอยู่ในฉากจบแบบแรก นอกจากนี้นักเขียนยังใช้ร้อยกรองบทนี้ ตอบคำถามที่นักเขียนได้ผูกปมไว้ โดยร้อยกรองบทนี้เป็นคำตอบของความรักระหว่างวายุและหนูดาว ว่าเป็นความรักหรืออารมณ์ชั่ววูบที่ได้พบของแปลกใหม่ ดังนั้นบทร้อยกรองที่นักเขียนแทรกไว้ในเนื้อเรื่องจึงมิใช่เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน หรือชักจูงให้เกิดอารมณ์ร่วมเท่านั้น แต่ยังเป็นการคลายปมปัญหาที่ได้ผูกไว้อีกด้วย ------------------------------------------------------------------------ ------------------------------------- ๒. วรรณศิลป์ ------------------------------------- วรรณศิลป์ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ศิลปะในการแต่งหนังสือ, ศิลปะทางวรรณกรรม, วรรณกรรมที่ถึงขั้นวรรณคดี, หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี ดังนั้นวรรณกรรมที่ควรได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเด่นก็ควรที่จะมีวรรณศิลป์ที่เด่นด้วยเช่นกัน ซึ่งวรรณกรรมเรื่องลมพัดผ่านดาวนี้มีวรรณศิลป์ที่ดี ทั้งการเลือกสรรคำ การเรียบเรียงคำ และการใช้โวหาร วรรณกรรมเรื่องนี้นักเขียนใช้พรรณนาโวหารทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพและสุนทรีย์ในการอ่าน โดยเฉพาะการใช้พรรณนาโวหารกับดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่นักเขียนสรรหาถ้อยคำมากมายและหลากหลายมาพรรณนา ก่อให้เกิดอารมณ์และจินตนาการที่ต่างกันในสิ่งเดียวกัน อาทิ

...มองขึ้นไปเห็นดอกไม้เพชรกระจายเรียงราย บางดวงชัดเสียจนเหมือนจะสอยลงมาได้ (ลมพัดผ่านดาว, น.๑๔๙) ยิ่งดึก ดาวก็ยิ่งสว่างอยู่ทุกตารางนิ้วของตาข่ายเพชรเบื้องบน ในตอนค่อนคืน ดาวตกก็เป็นแสงสว่างตกลงมา... (ลดพัดผ่านดาว, น.๑๕๑) ดวงดาวพร่างพรายอยู่เต็มท้องฟ้าข้างแรม วูบวาบ สุกปลั่งเหมือนใกล้มือ แทบว่าสอยลงมาได้ เพลงสายลมแผ่วหวิวอยู่รอบกาย ก่อความเย็นให้จนหนาว (เพลงสายลม-หน้าต่างสายลม, น.๑๖๑) ในที่สุด เขาก็นึกออก เมื่อชี้ชวนหล่อนชมตาข่ายเพชรคลุมพร่างพราวอยู่บนผืนกำมะหยีดำเบื้องบน (เพลงสายลม-หน้าต่างสายลม, น.๑๖๒)

อีกทั้งวรรณกรรมเรื่องนี้มีความสมจริงที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่ารู้จักกับตัวละครและเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งความสมจริงหรือความเหมือนชีวิตนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวที่อาจเรียกได้ว่าเป็นขนบของวรรณกรรม นอกจากนี้การเล่าเรื่องให้เหมือนชีวิตหรือเหมือนจริงเป็นการสร้างสรรค์เชิงจินตนาการอย่างหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดความกลมกลืนมีเอกภาพน่าเชื่อถือว่าเป็นจริง โดยความสมจริงนี้นักเขียนถ่ายทอดด้วยการใช้ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งคำพูดในบทสนทนาและการบรรยายความรู้สึก ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัว เป็นเรื่องของคนรอบตัว ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากจินตนาการ นอกจากนี้ในความธรรมดาของภาษานี้ยังแฝงความประณีตในด้านคำและความประณีตในด้านความ เพื่อให้เหมาะสมกับตัวละครและสะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยของตัวละครได้อย่างชัดเจน วรรณกรรมเรื่องนี้จึงให้อารมณ์และให้ความรู้สึกแก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี เช่น วายุ เป็นคนรุ่นใหม่ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และมีความเป็นศิลปินสูง นักเขียนสะท้อนให้เห็นนิสัยด้านศิลปินของวายุผ่านบทเพลงที่วายุแต่งและสะท้อนผ่านถ้อยคำธรรมดาที่สื่อความเป็นศิลปินได้อย่างดี

...แต่ผมชอบไปนอนฟังเสียงฝนที่ปาย ถ้ายังไม่เคยได้ยินก็น่าไปฟัง ฝนที่นั่นโปรยลงมาเป็นเสียงดนตรี (ลมพัดผ่านดาว, น.๙๘) ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ------------------------------------- ๓. มิติทางสังคม ------------------------------------- ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ วรรณกรรมย่อมสัมพันธ์กับสังคม วรรณกรรมสะท้อนประสบการณ์ชีวิตในยุคสมัยไม่ว่านักเขียนจะจงใจสะท้อนหรือไม่ วรรณกรรมจึงเป็นกระจกแห่งยุคสมัย ซึ่งวรรณกรรมที่ควรได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเด่นร่วมสมัย จึงต้องทำหน้าเป็นกระจกสะท้อนสังคมที่จะส่งผลต่อให้ผู้อ่านเกิดการคิดอีกด้วย ตามคำกล่าวของ D.H.Lawrence นักเขียนชื่อดังว่า วรรณกรรมสามารถขยายภาพชีวิต ชี้ให้เห็นความรู้สึกอันลึกซึ้งของมนุษย์ ทำให้เราเข้าถึงเอกภาพใหม่และการดำรงของชีวิต... ๓.๑. ชีวิตคู่ การแต่งงาน และการอยู่ก่อนแต่ง สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ทำให้เกิดพฤติกรรม “การอยู่ก่อนแต่ง” ขึ้นในสังคม ซึ่งผิดจากขนบของประเพณีไทย จากแบบสำรวจของนิด้าโพล ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องนี้ พบว่าร้อยละ ๓๑.๓๕ เห็นด้วยกับพฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่ง ซึ่งผลโพลดังกล่าวช่วยยืนยันได้ว่าพฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่งนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในสังคมไทย เป็นความนิยมที่เคลือบแคลงระหว่างความถูกต้องของบุคคลที่มีแนวคิดสมัยใหม่กับความผิดขนบประเพณีของบุคคลที่ยึดถือประเพณี ซึ่งในมุมมองคนรุ่นใหม่การอยู่ก่อนแต่งเป็นการศึกษาคู่ชีวิตและการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน โดยมีความรักและความสุขของทั้งสองฝ่ายเป็นปัจจัยหลัก หากรักกันก็อยู่ด้วยกัน เมื่อหมดรักหรือไม่มีความสุขที่อยู่ด้วยกันก็แยกย้ายกันไป นักเขียนสะท้อนพฤติกรรมนี้ผ่านตัวละครหลัก คือ วายุ โดยวายุและหนูดาวเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างไม่ถูกต้องตามประเพณี เมื่อวายุและหนูดาวแน่ใจว่ามีความรู้สึกชอบพอตรงกัน วายุก็ปีนรั้วเข้าหาหนูดาว และเริ่มต้นความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยากัน ซึ่งวายุเปรียบเสมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับประเพณีเดิม ที่แสดงให้เห็นทัศนะของการอยู่ก่อนแต่งว่าเป็นเรื่องของความรักและความสุขของคนสองคน และแสดงทัศนะเชิงลบของการแต่งงาน โดยเฉพาะหากการแต่งงานที่ต้องมีปัจจัยเรื่องความเหมาะสมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สำหรับวายุการแต่งงานคือ การประกาศว่าคนสองคนจะเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้อง เป็นหน้าตาทางสังคม ซึ่งไม่อาจรับประกันได้ว่าชีวิตคู่จะยืนยาว

“ถ้าแต่ง ผมไม่เห็นอะไรดีสำหรับคุณเลย ถ้าคุณจดทะเบียนกับผล คุณรวย ผมจน เรื่องอะไรที่คุณจะเอาเงินทองที่คุณหาได้ให้ผมมีสิทธิ์ครึ่งหนึ่งฟรีๆ เอาละ คุณจะไม่จดทะเบียนก็ได้ แต่งงานใช้เงินไปครึ่งล้านจัดงานในโรงแรม ไม่แคร์ว่าได้ซองกลับมาไม่คุ้ม เอาก็เอา ไม่ว่ากัน แต่ถ้าจะจัดให้รู้กันกลุ่มเล็กๆ ให้เพื่อนฝูงผมมันมากินเหล้ากัน ก็โอ.เค. แต่เรื่องพรรค์นี้ เพื่อนผมมันไม่สนว่าเป็นงานแต่งหรืองานอะไร มากินเหล้ามันก็ชอบทั้งนั้นแหละ” (ลมพัดผ่านดาว, น.๓๓๘)

ในทางตรงข้ามคนส่วนใหญ่ในสังคมมองพฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่งเป็นการกระทำที่ผิด มองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิง เป็นความเห็นแก่ตัวของผู้ชาย และมักจะดูถูกผู้หญิงที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าคนทั้งคู่จะมีคุณวุฒิและวัยวุฒิมากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทัศนะของผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือมีฐานะทางสังคมจะมองพฤติกรรมนี้ในเชิงลบ เช่น วาริน ที่มองการกระทำของวายุเป็นการลดทอนคุณค่าและไม่ให้เกียรติหนูดาว มองวายุเป็นผู้ชายไม่ดี หรือเพื่อนบ้านของหนูดาวที่แสดงพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการพบและพูดคุยกับหนูดาวหลังจากที่ทราบความสัมพันธ์ของวายุกับหนูดาว แม้เพื่อนบ้านจะไม่ได้กล่าวว่าตรงๆ กับพฤติกรรมนี้ แต่การกระทำที่แสดงออกก็เป็นการดูถูกหนูดาวแล้ว

คนดีจริงเขาไม่ทำอย่างนี้หรอก เขาควรให้เกียรติหนูดาว ถ้ารักกันจริงก็ควรรอให้แต่งกันให้ถูกต้องไม่ได้หรือไง... (ลดพัดผ่านดาว, น.๒๐๐) นิวาตแต่งงานแล้ว เมื่อไม่กี่วันนี้เอง ช่อแก้วไปร่วมงานเลี้ยงตอนหัวค่ำ ดารชาไม่ได้รับเชิญ หล่อนไม่แปลกใจ แม้จะขุ่นใจบ้างในความไม่มีมารยาทของเพื่อนบ้าน (ลมพัดผ่านดาว, น.๓๐๗)

นอกจากการสะท้อนพฤติกรรมการอยู่ก่อนแต่งแล้ว ยังสะท้อนถึงเรื่อง “การแต่งงาน” ที่คนส่วนใหญ่มีทัศนะคติว่าการแต่งงานต้องแต่งกับคนที่เหมาะสม ทั้งฐานะและหน้าตาทางสังคมจนละเลยปัจจัย “ความรักแบบหนุ่มสาว” ที่ควรมีระหว่างคู่แต่งงาน จนการแต่งงานเป็นเรื่องของทุนนิยม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ หากมองตามกระแสสังคมการแต่งงานกับคนที่มีฐานะเหมาะสมจะเป็นหน้าเป็นตาของสังคมและคู่แต่งงานที่ได้รับการชื่นชมถึงความเหมาะสมซึ่งบุคคลจะลื่นไหลไปกับกระแส จนมิได้ฉุกคิดในจุดนี้ นักเขียนจึงทำหน้าที่สะกิดให้สังคมเกิดความสงสัยในวัฒนธรรมการแต่งงานแบบทุนนิยมนี้ นักเขียนได้แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแต่งงานแบบทุนนิยมในหลายๆ คู่ เช่น คู่ของอาจารย์นิวาตกับจันทร์ฉาย เพื่อนบ้านของหนูดาว ที่แต่งงานด้วย “ความชอบ” และ “หน้าตาทางสังคม” สุดท้ายทั้งสองก็จบชีวิตคู่ด้วยการหย่าร้าง เพราะรักกันไม่มากพอ หรือคุณเพรา เจ้านายของหนูดาว ที่มองว่าการแต่งงานเป็นการทำธุรกิจ จึงเลือกแต่งงานเฉพาะกับคนร่ำรวย ผลคือ เธอแต่งงานและหย่าร้างมาแล้ว ๕ ครั้ง และคู่ของหนูดาวกับทรงวัชร์ ที่หนูดาวเลือกแต่งงานเพราะความเหมาะสม แม้จะมีความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นความรักแบบพี่น้อง มิใช่ความรักแบบหนุ่มสาว สุดท้ายในชีวิตคู่หลังแต่งงานซึ่งได้แต่งไว้ในเรื่องเพลงสายลม หนูดาวสุขสบายทางกาย มีชีวิตที่หรูหรา มีหน้าตาทางสังคม แต่กลับหาความสุขทางใจมิได้ ขณะเดียวกันในเรื่องหน้าต่างสายลมที่หนูดาวเลือกที่จะอยู่กับวายุ แม้ชีวิตของหนูดาวจะไม่สวยหรู ไม่ร่ำรวยหรือสุขบาย หนูดาวก็สุขใจมากรอยยิ้มจากความสุขจึงมีมากมาย มากกว่าการแต่งกับทรงวัชร์

“สามีมีเอาไว้ทำไมรู้ไหม เอาไว้รวยไง ฉันแต่งงานแต่ละทีไม่เคยขาดทุน มีแต่กำไร ผู้ชายแบบเพิ่มกำไรให้เรา...มีเอาไว้เป็นสามี แต่ถ้าแบบเซ็กซี่ เราชอบ...เห็นแล้วเคลิ้มไปถึงไหนๆ นั่นมีเอาไว้เป็นแฟน อย่าเอามาปนกัน”

...

“หนูดาวจ๋า เธอเป็นเด็กน่ารัก ฉันเอ็นดูเธอนะ งั้นจะสอนให้ อย่าเอาแฟนมาปนกับสามี เธอจะขาดทุน เธอจะไปค้างกับวายุหรือไม่ค้างฉันไม่สนใจ ต่อให้อยู่ด้วยกันสามปีแปดปีด้วยเอ้า อยู่มันเข้าไป ผู้ชายคนนี้เซ็กซี่นะเธอ แต่เธออย่าเอามาเป็นสามี ไม่คุ้มหรอก” (ลมพัดผ่านดาว, น.๓๔๒)

การมีบุตรเป็นอีกมิติหนึ่งที่วรรณกรรมเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงทัศนะที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่คำนึงถึงเรื่องการมีบุตรในทัศนะความรับผิดชอบและภาระที่มากขึ้น ครอบครัวรุ่นใหม่จึงปฏิเสธการมีบุตร ซึ่งเหตุปัจจัยที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีบุตรนั้น เนื่องมาจากต้องการความคล่องตัวในหน้าที่การงาน และอีกหนึ่งปัจจัยคือสภาพแวดล้อมของสังคมที่หาความปลอดภัยได้น้อย การเลือกไม่มีบุตรจึงเป็นหนทางที่สะดวกและง่ายกว่า แม้จะเป็นกระแสสังคมกระแสเล็กๆ แต่ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่อาจขยายเป็นวงกว้างได้ในอนาคต ตัวละครสองตัวที่สะท้อนแนวคิดว่าการมีบุตรเป็นภาระและความรับผิดชอบที่มากขึ้น คือ วศินี ภรรยาของทรงวัชร์ ที่เลือกจะไม่มีบุตร แม้ว่าทรงวัชร์อยากมีมากเพียงใด เธอให้เหตุผลว่า เธอและสามีอยู่คนละประเทศ หากเธอมีบุตรเธอก็จะต้องเลี้ยงบุตรคนเดียว เธอคงไม่มีเวลาให้ และอีกหนึ่งตัวอย่างคือ วายุ ที่มองการมีบุตรเป็นความรับผิดชอบของบิดามารดาที่ต้องมีมากขึ้น โดยเขามองว่าสังคมไทยเสื่อมโทรม จึงไม่ควรมีบุตรในสังคมที่เลวร้ายนี้ หากจะมีต้องมั่นใจว่าจะสามารถดูแลบุตรให้อยู่รอดอย่างปลอดภัยได้ จากความคิดของตัวละครทั้งสอง สามารถมองในแง่ที่ว่าการมีบุตรเป็นภาระ ซึ่งทัศนะนี้ส่อให้เห็นความรับผิดชอบที่ลดลงของคนรุ่นใหม่ได้อีกแง่มุมหนึ่งด้วย

“ไม่รู้ซีคะ หนูคิดแต่แรกว่า...เราไม่พร้อมจะมีลูก ถ้ามี หนูก็ต้องเลี้ยงอยู่คนเดียวแน่ๆ มัน...หนักสำหรับหนูค่ะ มันเหมือนหนูเป็นซิงเกิ้ลมัมยังไงไม่รู้ วาดภาพไม่ออกเลยว่าทรงวัชร์จะเอาลูกอายุสองสามเดือนไปเลี้ยงที่ไหน ” (ลมพัดผ่านดาว, น.๒๙๔)

“โลกเฮงซวยใบนี้ เราอยู่กันเองยังแทบเอาตัวไม่รอด มันไม่ใช่หนังสือเด็กระบายสีสวยๆ มีแต่ดอกไม้กับลูกหมา คิดดูนะ เด็กเกิดมาก็เจอมลพิษ เจอโรคประหลาดๆ รักษาไม่หาย โตพอเข้าโรงเรียนได้ก็เจอยาเสพติดหรือถูกคนโรคจิตข่มขืนฆ่าตั้งแต่อนุบาล หรือ ป.๑ ป.๒ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องให้เขามาเสี่ยง ถ้าทำให้เขาเกิด!”

...

“หนูดาวแน่ใจหรือว่าลูกจะโชคดีเท่าเรา ถ้าวันหนึ่งลูกวัยกำลังน่ารักของคุณถูกไอเดนมนุษย์ข่มขืนฆ่าหมกคูหน้าบ้าน พ่อแม่จะอยู่ต่อไปได้ตามปกติ หรือรู้สึกว่ามันเป็นความผิดที่เราปกป้องเขาไม่ได้ ผมเอง ถ้าไม่มั่นใจว่าจะเลี้ยงลูกได้ปลอดภัยสบายดี ๑๐๐% ผมไม่ให้เขามาเกิดซะดีกว่า” (ลมพัดผ่านดาว, น.๓๓๙)

ลมพัดผ่านดาว ช่วยให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดถึงคำว่า แต่งงานและชีวิตคู่ โดยเฉพาะให้คิดถึงปัจจัยของการแต่งงานของคนสองคน ที่ต้องมีปัจจัยความรัก ความเหมาะสม การปรับตัวเข้าหากันและอื่นๆ โดยชี้ให้ผู้อ่านมองหาความพอดีของการแต่งงานและชีวิตคู่ และมองความสมดุลที่จะทำให้ชีวิตคู่ยืดยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวัฒนธรรมการแต่งงานแบบทุนนิยม ซึ่งเป็นกระแสที่กลืนไปกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงจนละเลยถึงคำว่า “การแต่งงานและชีวิตคู่” ที่แท้จริง +++++++++++++++++++++++++++++++ ๓.๒ ใบปริญญา การทำงาน และทัศนคติที่สังคมไทยควรปรับ การศึกษาเป็นอีกมิติหนึ่งที่สังคมไทยกำหนดคุณค่าและวัฒนธรรมไว้ โดยสังคมไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก จึงให้ความสำคัญกับการสำเร็จการศึกษาด้วย อย่างน้อยคนที่ได้รับการยอมรับต้องจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา หากบุคคลใดที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะถูกมองว่าเป็นคนเกเร ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความมั่นคงในชีวิต และไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ หากจะกล่าวให้รวบรัดก็คือในสายตาสังคมไทยมองบุคคลที่ไม่จบการศึกษาในเชิงลบและมองว่าเขาไม่สามารถทำงานสร้างความมั่นคงในชีวิตได้เมื่อไม่มีใบปริญญาก็ไม่มีงานที่มั่นคง เมื่องานไม่มั่นคงก็ไม่อาจเลี้ยงชีพได้ แต่นักเขียนได้สะท้อนทัศนะของเรื่องในอีกมุมหนึ่ง โดยสะท้อนผ่านวายุ ซึ่งเป็นตัวอย่างบุคคลที่ไม่จบการศึกษา คนรอบข้างโดยเฉพาะสังคมของหนูดาวต่างมองว่าวายุไม่อาจดูแลและให้ความมั่นคงแก่หนูดาวได้ เพราะบุคคลที่ไม่จบปริญญาไม่สามารถทำงานที่มั่นคงหรือเป็นหลักแหล่งได้ และมองวายุเป็นผู้ชายที่ไม่คู่ควร เพราะเขาไม่ดีพอที่จะครองรักกับหนูดาว ขณะเดียวกันวายุก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าสามารถทำงานหาเงินเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ โดยเงินเดือนที่วายุได้จากการทำงานฟรีแลนซ์นั้นมีจำนวนมากกว่าพนักงานเงินเดือนที่จบการศึกษา

“วายุทำงานเป็นไกด์ ก็คงเงินดีมั้ง ผมขอให้ไปรอดจริงๆ เถอะ ผมเห็นเด็กอวดดีอย่างนี้มาหลายคน ไม่เก่งแต่ดันทุรังว่าตัวเองเก่ง ไม่เคยเห็นมันรอดสักคนเดียว” (ลมพัดผ่านดาว, น.๖๙)

“...ถ้าเรียนไม่ไหวก็ว่าไปอย่าง นี่ได้แค่งานที่ไม่ต้องใช้ปริญญา มันจะก้าวหน้าไปได้สักแค่ไหนกัน อยากเข้าทำงานในที่ดีๆ เขาก็ต้องใช้ปริญญาเป็นใบเบิกทางกันทั้งนั้นละ อย่างในที่ทำงานพี่ลูกพี่จบปริญญาโทกันเกือบทุกคน พี่ไล่ไปเรียนต่อเอง อายุจะสี่สิบห้าสิบยังต้องเรียน...” (ลมพัดผ่านดาว, น.๑๑๓)

ในทัศนคติของสังคมไทย มองบุคคลที่ไม่จบการศึกษาว่าเป็นบุคคลล้มเหลว โดยเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการทำงาน แต่วายุก็ได้พิสูจน์ทัศนะนี้ว่าไม่จริงเสมอไป แม้ว่าเขาจะไม่มีงานประจำ แต่หากวัดความสำเร็จของการทำงานด้วยเงินเดือนแล้วละก็ วายุก็ถือว่าเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน นอกจากนี้สังคมไทยยังมองว่าการทำงานประจำหรือพนักงานบริษัทดีกว่าการทำงานฟรีแลนซ์ ซึ่งก็สามารถเข้าใจได้ในทางจิตวิทยาว่ามนุษย์ทุกคนต้องการความมั่นคง การที่สังคมไทยจะยึดติดกับใบปริญญาและการมีงานที่มั่นคงจึงมิใช่เรื่องที่ผิดวิสัยมนุษย์ แต่สังคมไทยควรปรับทัศนะและมองอีกมุมหนึ่งว่า การไม่จบการศึกษา ไม่มีใบปริญญา และการทำงานฟรีแลนซ์สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้และไม่ใช่เรื่องที่เสียหายตราบใดที่เขาคนนั้นสามารถหาเงินเลี้ยงตนเองด้วยอาชีพที่สุจริตได้ +++++++++++++++++++++++++++++++ ๓.๓ รักร่วมเพศ สังคมที่ซ้อนเร้น ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๖ – ๒๕๒๕ นักเขียนหลายคนได้เขียนนวนิยายที่มีเนื้อหาและตัวละครเกี่ยวกับรักร่วมเพศออกมาหลายเรื่อง โดยนวนิยายแนวรักร่วมเพศนี้มีขึ้นเนื่องจากสภาพสังคมที่ช่วงเวลานั้นมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มรักร่วมเพศปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งนวนิยายที่เกี่ยวกับรักร่วมเพศมีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ประตูที่ปิดตาย รากแก้ว บัลลังก์ใยบัว ของกฤษณา อโศกสิน ลูกรัก มายา ของสุวรรณี สุคนธา และเงาพระจันทร์ ของโสภาค สุวรรณ ในนวนิยายเหล่านี้ใช้เรื่องรักร่วมเพศเป็นส่วนสำคัญของนวนิยาย โดยนักเขียนมุ่งเสนอเรื่องราวของคนรักร่วมเพศโดยตรง เสนอทั้งปัญหาของคนรักร่วมเพศ ผู้เกี่ยวข้อง และทัศนคติทางสังคม สังคมไทยในปัจจุบันยอมรับเรื่องรักร่วมเพศได้มากขึ้น หากเทียบกับอดีต แต่ท่ามกลางกระแสการยอมรับคนกลุ่มนี้ สังคมไทยกลับไม่เว้นพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้มีจุดยืนอย่างสง่า โดยเฉพาะในชนชั้นสังคมไฮโซ กลุ่มคนรักร่วมเพศที่อยู่ในชนชั้นนี้จำต้องสร้างสังคมใหม่ของตนเองขึ้นมา เป็นสังคมที่ซ้อนเร้นที่เปิดรับเฉพาะบุคคลกลุ่มเดียวกัน ประเด็นเรื่องรักร่วมเพศที่วรรณกรรมเรื่องนี้เสนอขึ้นนั้น เป็นมุมมองทางสังคม ถ่ายทอดพฤติกรรมของกลุ่มรักร่วมเพศในวงสังคมชั้นสูงที่สร้างโลกส่วนตัวให้ห่างไกลจากความจริง ฉุกรั้งให้ผู้อ่านคิดและทบทวนถึงพฤติกรรมตัวเองต่อคนกลุ่มนี้ และเสนอให้ผู้อ่านเห็นใจ เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้มีที่ยืนในสังคม ตัวละครที่รับบทกลุ่มคนรักร่วมเพศในเรื่องคือ ทรงวัชร์และพี่แจ๊ซ หนุ่มใหญ่ที่มีหน้าที่การงานและมีหน้าตาในวงสังคมชั้นสูง เบื้องหน้าพวกเขาจะเป็นหนุ่มเจ้าเสน่ห์ ที่หมายปองของสาวน้อยสาวใหญ่ เป็นที่นับถือของสังคม มีพื้นที่ยื่นอย่างสง่า แต่เบื้องหลังพวกเขากลับต้องหลบซ่อนตัวตนที่แท้จริงภายในผับเล็กๆ สำหรับทรงวัชร์เป็นรักร่วมเพศประเภทเกย์ ที่ผ่านการแต่งงานที่ล้มเหลวมาแล้วหนึ่งครั้ง และจะเริ่มชีวิตการแต่งงานอีกครั้งกับหนูดาว ผู้ที่สามารถยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเขาได้ เพราะสำหรับเขาแล้วการแต่งงานและการมีบุตรเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ชีวิตของเขาสมบูรณ์ขึ้น ทรงวัชร์เป็นตัวแทนของกลุ่มคนรักร่วมเพศที่มีพื้นฐานมาจากอารมณ์ใคร่ ขณะที่พี่แจ๊ซเป็นตัวแทนกลุ่มรักร่วมเพศที่เกิดจากจิตใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรักร่วมเพศประเภทใด กลุ่มคนนี้ก็ยังไม่มีพื้นที่ที่ชัดเจนในสังคม ตราบใดที่สังคมไทยไม่เปิดกว้างกับเรื่องนี้อย่างชดเจน

------------------------------------------------------------------------

--------------------- บทสรุป --------------------- ผลของการศึกษาวรรณกรรมเรื่อง ลมพัดผ่านดาว สรุปได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเด่นร่วมสมัย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้คือ จุดเริ่มต้นของเทคนิคการประพันธ์ที่แตกต่างจากการประพันธ์เดิมหรือกลวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่นั่นเอง โดยการเสนอให้มีตอนจบสองแบบและเป็นการจบแบบตรงข้ามกัน ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านได้ตามรสนิยมและความชอบ อีกทั้งการมีตอนจบสองแบบนี้ยังสร้างปรากฏการณ์ให้ผู้อ่านสื่อสารกับนักเขียนผ่านเวทีเสวนาอีกด้วย ในส่วนเรื่องวรรณศิลป์ที่ดีของเรื่องทั้งการใช้พรรณนาโวหาร การเลือกสรรคำอย่างประณีต และการใช้ภาษาที่สละสลวยเข้าใจง่าย จึงสร้างกลมกลืนและความสมจริงให้กับวรรณกรรม ซึ่งการใช้ภาษาได้อย่างมีศิลปะนี้อาจนับเป็นกลวิธีการนำเสนอที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้มีจุดเด่นที่มิอาจมองข้าม สุดท้ายมิติทางสังคมที่วรรณกรรมเรื่องนี้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม พร้อมทั้งทำหน้าที่กระตุ้นและฉุกคิดให้ผู้อ่านได้หันกลับมามองมุมต่างที่สังคมมองข้ามไป ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้อ่านเกี่ยวกับสังคมได้ วรรณกรรมเรื่องนี้จึงน่าจับตามองและน่าติดตาม เหมาะสมกับการได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเด่น

###

ลมพัดผ่านดาว และ เพลงสายลม - หน้าต่างสายลม

ผู้เขียน ว.วินิจฉัยกุล

สำนักพิมพ์ทรีบีส์

Book_17.jpg

 
 
 

Comentarios


bottom of page