top of page
Search

จักรพรรดิมังกร VS ราชบุตรเขยเจ้าสำราญ

  • Taliw
  • Apr 19, 2015
  • 1 min read

...ไม่ได้คาดคิดว่าจะเขียนเปรียบเทียบนิยายสองเรื่องนี้ เพราะเชื่ออยู่เสมอว่านิยานทุกเรื่องล้วนมีความบันเทิงแฝงอยู่เสมอ แต่มันก็อดไม่ได้จริงๆ จนต้องบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของนิยายสองเรื่องนี้ให้ใครหลายคนได้รับรู้ สำหรับใครที่เคยอ่านนิยายจีนมาก่อน (ณ ที่นี้ หมายความถึงนิยายจีนโบราณ) คงรู้ว่านิยายจีนกำลังภายใน (หรือจะไม่มีกำลังภายในก็ตาม) เป็นนิยายที่สนุกมากประเภทหนึ่ง และหลายสำนักพิมพ์ก็มีนิยายจีนตีพิมพ์อยู่เสมอ แต่นิยายจีนนั้นก็มีทั้งนิยายจีนที่แปลมาจากต้นฉบับที่เดินทางมาไกลหลายร้อยลี้ และนิยายจีนจากปลายนิ้วนักเขียนชาวไทยที่ชื่นชอบวัฒนธรรมจีน แน่นอนว่านิยายจากปลายนิ้วนักเขียนสัญชาติจีนย่อมเข้มข้นและจัดจ้านด้วยวัฒนธรรมและคงความดั่งเดิมได้ดีกว่านิยายจีนฝีมือคนไทย อย่าง "มากกว่ารัก" นิยายจีนของสำนักพิมพ์แจ่มใสที่ตีพิมพ์โดยแปลมาจากต้นฉบับอย่างนักเขียนมากฝีมือจากไต้หวันและจีน (แต่จะสนุกมากหรือน้อย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนักแปลด้วยเช่นกัน ^^) แต่ถึงอย่างนั้นนิยายจีนโดยนักเขียนสัญชาติไทยก็ใช่ว่าจะไม่สนุก อย่างเรื่อง "จักรพรรดิมังกร" และ "ราชบุตรเขยเจ้าสำราญ" ที่ได้นักเขียนไทยที่มีใจรักความเป็นจีนมาแต่งเติมจินตนาการให้เหล่านักอ่านได้สนุกกับเรื่องราวที่โลกแล่นอยู่หน้ากระดาษจนวางไม่ลง เมื่อพูดถึง 'นิยายจีน' ใครหลายคน รวมทั้งตัวผู้เขียนเองก็คงคิดถึง 'ยุทธภพ' - ที่เต็มไปด้วยวิชาเลิศล้ำเหนือจะกล่าวกับการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี และคงคิดถึง 'วังหลวง' - เรื่องราวความรักที่ต้องแก่งแย้งของเหล่าสนมนางห้าม กับ จักรพรรดิผู้หล่อเหล่าและทรงปัญญาที่ต้องต่อกรกับเล่ห์กลของเหล่าขุนนาง และที่ขาดไม่ได้คือ 'สาวงาม' - ตัวปัญหาที่งดงามจนสามารถล่มเมืองได้ ฯลฯ หรือหากจะกล่าวโดยสรุปคงกล่าวได้ว่า นิยายจีนนั่นมีพล็อตเรื่องหลัก (หรือรอง) ไม่แตกต่างกันมากนัก ...จักรพรรดิมังกร และ ราชบุตรเขยเจ้าสำราญ ก็เช่นเดียวกัน แม้จักรพรรดิมังกรและราชบุตรเขยเจ้าสำราญจะมีพล็อตเรื่อง (รอง) เกี่ยวกับยุทธภพและวังหลวง แต่ทั้งสองเรื่องนี้กลับสนุกสนาน ซึ่งแตกต่างจากนิยายจีนแท้ๆ จนต้องหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------- "จักรพรรดิมังกร" - หนึ่งบุรุษผู้สยบใต้หล้า หนึ่งสตรีหาญกล้าผู้สยบหัวใจพญามังกร เรื่องราวความรักของหญิงสามัญชนผู้มีชาติตระกูลต่ำต้อยกับอดีตจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรคตไปแล้ว ... 'อูเยี่ยนหลาน' สตรีสามัญในตระกูลอันต่ำต้อย ดรุณีวัย 16 ผู้หาญกล้าจนไร้ซึ่งความเป็นกุลสตรี

... 'เย่าเฉินจง...หย่งหมิง' อดีตพญามังกรรูปงามปานเทพเซียน ผู้มีปณิธานอันยิ่งใหญ่เทียมฟ้า เพียงเพื่อแผ่นดินและอาณาประชาราษฎร์ เมื่อฟ้าลิขิตชักนำให้ดรุณีน้อยพานพบกับพญามังกรผู้เฉยชาต่ออิสตรี -- ความสดใสไร้จริตมารยาที่มาพร้อมสติปัญญาอันชาญฉลาดและความหาญกล้าที่แม้แต่บุรุษยังอายทำให้อดีตจักรพรรดิน้ำแข็งหลอมละลาย ขณะที่ความงามปานเทพเซียนและสติปัญญาอันล้ำลึกก็ดึงดูดให้ดรุณีน้อยหลงใหลจนกลายเป็นหลงรัก ไม่!! เรื่องนี้มิใช่เรื่องราวการแก่งแย้งของเหล่าสนมนางในหรือการชิงอำนาจของเหล่าขุนนาง (แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง แต่ก้มิใช่ส่วนสำคัญ) แต่เป็นเรื่องราว "ความรัก" ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่เรียกว่า "การเสียสละเพื่อความสุขของส่วนรวม" โดยมีฉากต่อสู่ตื่นตาตื่นใจแบบฉบับนิยายจีนให้เรื่องได้ลิ้มลอง ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------- "ราชบุตรเขยเจ้าสำราญ" - เล่ม 1 : หนึ่งบ่าว หนึ่งองค์หญิง หนึ่งสตรี หนึ่งบุรุษ / เล่ม 2 : สวรรค์ชมชอบกลั่นแกล้งผู้คน จึงชักพา 'มัน' และ 'นาง' ต้องพบกันอีกครั้ง / เล่ม 3 : ท่ามกลางไฟสงครามร้อนระอุ แม้ว่าอ่อนแอนัก แต่ยังพร้อมปกปักด้วยชีวิต นิยายเรื่องยาว (3 เล่มจบ) แสนประหลาดผิดเพศของคนสองคนที่มีฐานันดรแตกต่างราวฟ้ากับเหว โดยมีความริษยาของสนมนางในและการแก่งแย้งอำนาจของเหล่าขุนนาง แม่ทัพ และจักรพรรดิเป็นเครื่องปรุงหลักในการดำเนินเรื่อง ... 'ไต้หยี่' บ่าวน้อยจากตระกูลบ้านนอก ปากกล้าแต่มากน้ำใจ อิสตรีร่างบอบบางที่แต่งกายเป็นชาย จนไม่มีผู้ใดเห็นว่าเป็นสตรี แม้กระทั่งตนเองยังลืมไปว่าเป็นสตรี

... 'องหญิงเจียงจู หรือ จ้าวเหลียนหยา' พระขนิษฐาที่ฮ่องเต้โปรดปรานและรักใคร่ดังแก้วตา โฉมตรูอ่อนหวานสูงส่งและงดงามเหนือสตรีทั่วหล้า แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นชาย ที่แม้เจ้าตัวเองก็ยังไม่ทราบว่าตนเป็นบุรุษ เมื่อฟ้าลิขิตชักนำให้บ่าวน้อยได้ใกล้ชิดกับองค์หญิงผู้สูงส่งจนพริกผันกลายเป็นราชบุตรเขย ภายใต้คำสั่งและการบังคับขององค์ฮ่องเต้ (แม้คนทั้งคู่จะมีความ 'รัก' ให้กัน แต่ต่างคนต่างไม่รู้ตัว การแต่งงานครั้งนี้จึงมิได้หอมหวานดั่งเช่นที่ควรจะเป็น) ภายใต้ภาระอันหนักอึ้งของคำว่า 'ราชบุตรเขย' ที่พึงต้องทำหน้าที่รับใช้บ้านเมือง จำต้องจับดาบ ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพนำพลทหารออกศึก แม้จะเป็นสตรี เรื่องนี้ความสนุกมิใช่เพียงความรักที่ชลมุนวุ่นวายของคนผิดเพศสองคนเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวของการทำหน้าที่เชื่อพระวงศ์เพื่อแผ่นดินและการฆ่าฟันตามแบบฉบับของชาวยุทธมาเสริมความสนุกอีกด้วย เราจึงได้ลิ้มรสของกลศึกและเล่ห์กลมากกว่าเพียงรสรักอีกด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------- จักรพรรดิมังกร VS ราชบุตรเขยเจ้าสำราญ -- อาหารจีนดั่งเดิมที่เห็นได้ดาษดื่ แต่มีรสกลมกล่อม กับ อาหารจีนฟิวชั่นแปลกใหม่ชวนลิ้มลอง แต่ขาดความกลมกล่อม "จักรพรรดิมังกร" เปรียบเสมือนอาหารจีนรสดั่งเดิมที่แม้มิได้แปลกใหม่ แต่มีรสกลมกล่อมถูกปากคนชิมอย่างผู้เขียน -- แม้เรื่องราวจะไม่ได้หวือหวาและซับซ้อน แต่มี 'ความเป็นจีน' อยู่เต็มเปี่ยม โดยตรึงใจคนอ่านด้วยความรักที่ค่อยผลิบานของคนคู่หนึ่ง คลายๆ นำเปล่าที่ถูกเติมน้ำตาลจนกลายเป็นน้ำเชื่อมที่หวานลิ้มละมุมใจ รวมทั้งความสดใสและความวุ่นวายจนต้องอมยิ้มของอูเยี่ยนหลาน โดยเฉพาะความสนุกเมื่อจักรพรรดิน้ำแข็งหลอมละลายจนกลายเป็นหวานเย็นที่ให้ความสดชื่น "ราชบุตรเขยเจ้าสำราญ" เปรียบเสมือนอาหารจีนฟัวชั่นที่ดัดแปลงแต่งรสใหม่ แม้แปลกใหม่ชวนลิ้มลอง แต่ยังขาดความกลมกล่อม ไม่ใคร่ถูกปากคนเขียนนัก -- แม้เรื่องราวจะสนุกสนานแปลกใหม่ชวนลิ้มลอง แต่นิยายจีนเรื่องนี้กลับไม่กลมกล่อม นั่นอาจเพราะยังขาด 'ความเป็นจีน' (ขาดอย่างไรจะกล่าวในย่อหน้าถัดไป) แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยกนิ้วให้นิยายจีนเรื่องนี้คือความซับซ้อนของเงื่อนปมในเรื่อง ชวนให้เราไขความกระจ่างเสมือนนิยายสืบสวน กับความสนุกเจ้าเล่ห์แสนกลของไต้หยี่ที่พาให้ผู้อ่านหัวเราะและอมยิ้มไปกับฉากหวานๆ ของจ้าวเหลียนหยาที่มีต่อไต้หยี่ แม้จะยาวไปสักนิด เวิ่นไปสักหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นอาหารจีนจานใหญ่ที่ไม่ควรพลาด "ความเป็นจีน" ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงประเพณีดั่งเดิมหรือสุภาษิตจีนที่มักจะเห็นในนิยายจีนจากปลายนิ้วผู้เขียนสัญชาติจีน (จนทำให้เราทั้งอินและงงในคราวเดียวกัน) แต่หมายถึง "ภาษา" ที่ใช้ แน่นอนว่านอกจากพล็อตเรื่องที่สนุกสนาน ภาษาที่ใช้เล่าเรื่องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของนิยายจีน เพราะหากภาษาที่ใช้ไม่สื่อถึงความเป็นจีนโบราณมากพอ "ความอิน" ของคนอ่านก็จะลดลงด้วย จนเรื่องนั้นไม่อาจสนุกได้เต็มร้อย -- จักรพรรดิมังกร ย่อมรับว่า 'พันราตรี' ทำการบ้านเรื่องภาษาได้ดีเยี่ยม เรื่องนี้จึงสนุกและทำให้ผู้อ่านอินจนเสมือนว่าเป็นตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง แต่สำหรับราชบุตรเขยเจ้าสำราญนั้น ภาษาที่ใช้ยังคงให้ความรู้สึกไทยๆ และเป็นปัจจุบัน จนผู้อ่านไม่อินไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งเสมือนจักรพรรดิมังกร อาจเป็นความตั้งใจของ 'BiscuitBus' หรือกอง บก. ก็สุดรู้

โดยเฉพาะคำว่า "มัน" ที่ใช้เรียกแทนชื่อคน (ทำหน้าที่เป็นทั้งสรรพนามบุรุษที่หนึ่งและสาม) โดยปรากฎให้เห็นบ่อยและตลอดทั้งเรื่อง ทำให้อรรถรสของเรื่องลดลงไปมาก หากลองปรับมาใช้คำว่า ข้า, เจ้า, เรา, หรือใช้คำเรียกอื่นอย่าง องค์ชายสาม, พญามังกร ฯลฯ หรือจะใช้ชื่อเล่นสั้นๆ แทนไปเลยอย่างเรื่องจักรพรรดิมังกร เรื่องนี้คงจะสนุกมากกว่านี้ และอาจจะสนุกกว่าจักรพรรดิมังกรด้วยซ้ำ ...ช่างน่าเสียดายนัก ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

- จักรพรรดิมังกร โดยพันราตรี สำนักพิมพ์คำต่อคำ

- ราชบุตรเขยเจ้าสำราญ (3 เล่มจบ) โดย BiscuitBus สำนักพิมพ์อรุณ

CHINESE-OK.jpg

 
 
 

Comments


bottom of page